ในหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คุ้นเคยกับคำว่า “BIM หรือ Building Information Modeling” กันอย่างแน่นอน ทั้งบริษัทพัฒนาอสังหาฯ บริษัทสถาปนิก รวมไปถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ซึ่ง BIM เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานเพื่อพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามความต้องการและเป้าหมายการใช้ BIM เช่น การเพิ่มคุณภาพของงานออกแบบ การบริหารจัดการต้นทุน การบริหารงานก่อสร้าง รวมไปถึงการใช้ BIM ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ สำหรับการบริหารจัดการอาคาร อีกทั้งยังมีการพัฒนาในเรื่องของการนำ BIM ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีกอย่างต่อเนื่อง
ในฐานะที่บริษัทลุมพินี วิสดอม แอนด์โซลูชั่น จำกัด (LWS) ให้บริการที่ปรึกษาด้าน BIM เราได้เข้าไปพัฒนา BIM ในองค์กร หรือที่เรียกว่า BIM Corporate ให้กับองค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ มาแล้วมากมาย ซึ่งในแต่ครั้งที่เราเข้าไปพัฒนา เรามักได้รับโจทย์ในการพัฒนาที่แตกต่างกันไปตามเป้าหมาย ทิศทาง และความคาดหวังในเรื่อง BIM ของแต่ละองค์กรหรือบริษัทนั้น ๆ ในการพัฒนา BIM สำหรับองค์กร เราให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยที่ต้องพัฒนาเพื่อให้การพัฒนานั้นสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ การพัฒนากระบวนการ (Process) การพัฒนาเทคโนโลยี (Technology) และ การพัฒนาบุคลากร (People) ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ ต้องพัฒนาควบคู่กันไป และต้องสอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนา BIM นั้น ๆ ด้วย
BIM กับการพัฒนาในองค์กร ควรให้ความสำคัญกับอะไรก่อน
ใน 3 ปัจจัยที่กล่าวข้างต้น ถ้าถามถึงความสำคัญว่าอะไรสำคัญที่สุด ก็ต้องตอบว่าทั้ง 3 ปัจจัยมีความสำคัญมากที่สุดเท่ากัน แต่ถ้าถามถึงความยากของการพัฒนา BIM ในองค์กร คำตอบจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา คือ การพัฒนาบุคลากร (People) เป็นปัจจัยที่ยากที่สุด ซึ่งอาจเป็นคำตอบที่สร้างความสงสัยไม่น้อย ว่าทำไมการพัฒนาคนในองค์กรให้ทำงาน BIM ถึงเป็นสิ่งที่ยากที่สุด? เพียงแค่ส่งคนไปเรียนโปรแกรม หรือ Software ที่เกี่ยวกับ BIM ก็น่าจะเพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ? จากข้อสงสัยนี้เราสามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่า การพัฒนาบุคลากรเพียงแค่ให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสำหรับ BIM นั้น ยังไม่เพียงพอต่อการผลักดันให้พัฒนา BIM ในองค์กรได้อย่างสำเร็จและยั่งยืน เพราะการพัฒนาบุคลากรนั้น จำเป็นต้องมีบุคลากรที่ถูกพัฒนาทักษะในหลาย ๆ ด้านเพื่อให้ BIM ในองค์กรถูกขับเคลื่อนจากบุคลากรภายในองค์กรนั้น ๆ เองได้
3 ทักษะด้าน BIM ที่บุคลากรต้องมี
หากต้องการให้การใช้ BIM ประสบความสำเร็จในองค์กร การพัฒนาบุคลากรควรคำนึงถึงทักษะ 3 ทักษะ ได้แก่ 1). BIM Technical Skill – ทักษะความรู้เฉพาะทางด้าน BIM ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี โปรแกรม หรือแม้กระทั่งทักษะการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับ BIM 2). BIM Management Skill – ทักษะการบริหารจัดการด้าน BIM ทั้งการบริหารจัดการสำหรับโครงการ และสำหรับองค์กร 3). BIM Development Skill – ทักษะการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ให้ทันตามเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนา BIM ในองค์กรอย่างยั่งยืน
หากกล่าวตามหลักการ เรื่องการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้าน BIM อาจไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนจนเกินไป แต่ในเชิงปฏิบัตินั้น เรามักจะพบกับอุปสรรคที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนา BIM ในองค์กร หนึ่งในอุปสรรคที่พบได้บ่อย คือ การไม่มี Passion หรือการไม่ได้รับแรงผลักดัน จากทั้งตัวของบุคลากร และตัวองค์กรเอง ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มพัฒนา BIM ในองค์กร การสร้าง Passion ให้กับบุคลากรนั้น จึงกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่องค์กรนั้น ๆ ต้องทำ
อีกหนึ่งอุปสรรคคือ ปัญหาการขาดแคลนของบุคลากรด้าน BIM ปัจจัยที่เราคิดว่ามีผลให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรคือ ขาดการสร้าง Career Path ให้กับบุคลาการด้าน BIM ในองค์กรเพื่อให้มีเส้นทางเติบโตในสายงานนี้ เมื่อมองไม่เห็นเส้นทางที่สามารถก้าวหน้าในสายงานได้มากกว่านี้ จึงทำให้บุคลากรด้าน BIM ขาดการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ในตลาดยังคงมีความต้องการบุคลากรด้าน BIM อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบุคลากรที่มี BIM Technical Skill ถือว่ายังเป็นที่ต้องการในวงการอสังหาฯ
การสร้าง Passion ก่อนเริ่มพัฒนา BIM ในองค์กร
กลยุทธ์ในการสร้าง Passion ให้กับบุคลากรเพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อการพัฒนา BIM ในองค์กร มีแนวทางดังนี้
- BIM Direction หรือ BIM Policy ขององค์กร ต้องชัดเจน – การากำหนดเป้าหมาย และทิศทางในการพัฒนา BIM สำหรับองค์กร ถือว่าเป็นด่านแรงที่สำคัญ เพราะจะเป็นตัวควบคุมให้การพัฒนา BIM เป็นไปตามความคาดหวังที่วางไว้
- สร้างความเข้าใจในองค์กร – สื่อสารภายในองค์กรให้ผู้ที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายรับทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่อง BIM Direction หรือ BIM Policy ขององค์กร และเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง หากบุคลากรเข้าใจบทบาทของตัวเองดีแล้วสามารถทำให้เกิดกระตุ้นในการอยากมีส่วนร่วมต่อการขับเคลื่อนนโยบายขององค์กร
- เพิ่มทักษะ BIM ให้บุคลากร – ให้ความรู้และสร้างทักษะด้าน BIM ที่เหมาะสมและคล้องกับบทบาทหน้าที่ของบุคลากรในแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
- สร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจ – เป็นการให้รางวัลหรือตอบแทนบุคลากรที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยมและช่วยผลักดันการพัฒนา BIM สำหรับองค์กรให้สำเร็จ เพื่อสร้างคุณค่าในงาน และกระตุ้นให้บุคลากรมีความต้องการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีการในการสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจนี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการของแต่ละองค์กร
เมื่อบุคลากรมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ BIM มากพอ ก็จะช่วยส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามเป้าหมายต่าง ๆ ขององค์กรที่มุ่งหวังไว้ การสร้าง Passion ให้กับบุคลากรหรือกลยุทธ์ในการพัฒนา BIM ภายในองค์กร ถือว่าเป็นสิ่งงที่ควรทำอย่างยิ่ง ยิ่งในองค์กรใหญ่ ๆ อย่างบริษัทอสังหาฯ เมื่อเริ่มที่จะพัฒนา BIM ในองค์กรแล้ว นั้นคือการลงทุน มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ทั้งค่าใช้จ่ายในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาความรู้ให้บุคลากร และเพื่อไม่ให้การลงทุนนั้นเสียเปล่า จึงจำเป็นต้องสร้างกลยุทธ์หรือวีธีการผลักดันให้การพัฒนา BIM ในองค์กรนั้นสำเร็จ
เราเชื่อว่า องค์กรจะพัฒนาและก้าวต่อไปได้ล้วนแล้วเกิดจากการขับเคลื่อนโดยคนภายในองค์กรเอง และจะก้าวต่อไปอย่างยั่งยืนได้ องค์กรนั้น ๆ ต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง โลกในปัจจุบันเราถูกเชื่อมโยงเข้ากับเทคโนโลยีในทุก ๆ ด้าน ส่งผลต่อการใช้ชีวิต รวมถึงกระบวนการทำงานต่าง ๆ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อก้าวในทันกับเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง “BIM” เองก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อกระบวนการทำงานเดิม หากองค์กรมีแนวทางการจัดการต่อการพัฒนา BIM ในองค์กรได้เป็นอย่างดี ก็จะสามารถใช้ “BIM” ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรนั้นได้