Lumpini Wisdom and Solution (LWS) เตรียมพร้อม !! การใช้กฎกระทรวงเกณฑ์การออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code : BEC
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวว่า จากการที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้มีการผลักดันเรื่องการใช้กฎกระทรวงเกณฑ์การออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code : BEC ด้วยการกำหนดมาตรฐาน, หลักเกณฑ์และวิธีการออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงอาคารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ใน 9 ประเภทอาคารจะต้องมีการออกแบบอาคารให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ และเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563 เว็บไซต์ราชกิจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคาร และมาตรฐานหลักเกณฑ์ วิธีการในการออกแบบอาคาร เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2564 เป็นต้นไป กับอาคารขนาด 10,000 ตร.ม.ขึ้นไปก่อน และอาคาร 5,000 ตร.ม.ขึ้นไป ในปี 2565 และอาคาร 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป ในปี 2566 ตามลำดับ ทำให้ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานในประเทศมากขึ้น
จากรายงานของกระทรวงพลังงานพบว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2552-2563 มีอาคารที่ได้รับการประเมินเป็นอาคารประหยัดพลังงานตามเกณฑ์ของ BEC จำนวน 850 อาคาร สามารถประหยัดพลังงานได้ 630 ล้านหน่วย โดยกระทรวงฯ มีเป้าหมายว่าภายใน 20 ปี นับจากปี 2561 ถึงปี 2581 การสร้างอาคารประหยัดพลังงาน จะทำให้ประเทศไทยสามารถประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 13,700 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นเงินกว่า 47,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 7,282 ตันต่อปี
จากการศึกษาของทีม “ลุมพินี วิสดอม” พบว่า การพัฒนาอาคารสำนักงานให้เช่า เกรด B ประหยัดพลังงานขนาด 1 หมื่น ตร.ม. จะสามารถประหยัดพลังงานได้เฉลี่ย 2.7 แสนกิโลวัตต์ต่อปี คิดเป็นเงินประมาณ 1.12 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 1.51 แสน กก. คาร์บอนเทียบเท่าต่อปี ขณะที่ต้นทุนการก่อสร้างอาคารประเภทนี้ สูงกว่าการสร้างอาคารปกติประมาณ 0.6% ซึ่งเมื่อเทียบความสามารถในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานกับต้นทุนการก่อสร้างแล้ว จะใช้เวลาในการคืนทุนจากต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นภายในระยะเวลา 4.5 – 5 ปี
การออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน จะให้ความสำคัญในการออกแบบครอบคลุมระบบเปลือกอาคาร ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ระบบผลิตน้ำร้อน และการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในอาคารเป็นหลัก
นายประพันธ์ศักดิ์ ยังกล่าวว่า อาคารประหยัดพลังงานไม่ใช่ทำได้เฉพาะการออกแบบและพัฒนาอาคารขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาอาคารขนาดเล็ก ที่พักอาศัยทั้งอาคารชุดพักอาศัย บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ รวมถึงยังสามารถปรับปรุงอาคารเก่าให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานได้อีกด้วย โดยการนำเกณฑ์ในการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานมาใช้ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อเจ้าของและผู้ใช้งานในอาคารได้ในระยะยาว
กฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐานหลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 มีสาระสำคัญ ดังนี้
หมวดที่ 1 : ประเภทและขนาดของอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
กำหนดอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงอาคาร 9 ประเภทอาคาร ประกอบด้วย อาคารสถานศึกษา, สำนักงานหรือที่ทำการ, โรงมหรสพ, ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า, สถานบริการ, อาคารชุมนุมคน, โรงแรม, สถานพยาบาล และอาคารชุด ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องมีการออกแบบอาคารให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2564 เป็นต้นไป กับอาคารขนาด 10,000 ตร.ม. ขึ้นไปก่อน, อาคาร 5,000 ตร.ม. ขึ้นไปในปี 2565 และอาคาร 2,000 ตร.ม. ขึ้นไป ในปี 2566 ตามลำดับ
หมวดที่ 2 : มาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
กำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคาร ประกอบด้วย ระบบเปลือกอาคาร, ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง, ระบบปรับอากาศ, อุปกรณ์ผลิตน้ำร้อน, การใช้พลังงานรวม และการใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบต่าง ๆ ของอาคาร
ซึ่งปัจจุบัน พพ. ได้ปรับปรุงแก้ไขร่างกฎกระทรวงฯ ใหม่ เพื่อให้เนื้อหามีความทันสมัยและเหมาะสมกับการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้อาคารที่ก่อสร้างและปรับปรุงใหม่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีขึ้นตาม
LPN และ LWS นั้น ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัย ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์พลังงานเป็นอย่างมาก โดยในการออกแบบอาคารที่พักอาศัยของ LPN ทุกโครงการ ให้คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานเป็นสำคัญ และยังได้นำโครงการเข้ารับการประเมินประสิทธิภาพด้านการอนุรักษ์พลังงาน พพ. อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยล่าสุดในงานมอบรางวัลฉลากแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2562 LPN ส่งแบบอาคารเข้าร่วมประเมินมากที่สุด และได้รับการรับรองทั้งสิ้น 22 อาคาร
ตัวอย่างโครงการที่ผ่านการรับรองได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ แบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน จาก พพ.
โครงการลุมพินี เพลส พระราม 3 – ริเวอร์ไรน์
ตั้งอยู่ที่ ถนนเลียบวงแหวนอุตสาหกรรม แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา จังหวัด กรุงเทพมหานคร คอนโดมิเนียมสูง 35 ชั้น ประกอบด้วย ห้องชุดพักอาศัยรวม 719 ยูนิต (ชั้น 6 – ชั้น 35) รูปแบบห้องชุดขนาด 24.00 – 51.50 ตร.ม.
โครงการมีผลการประเมินการใช้พลังงานต่อปี อยู่ที่ 3,269,437.44 กิโลวัตต์ – ชั่วโมง / ปี ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ 7,056,729.53 กิโลวัตต์ – ชั่วโมง / ปี คิดเป็นร้อยละ 53.67
โครงการลุมพินีวิลล์ พัฒนาการ – ศรีนครินทร์
ตั้งอยู่ที่ ถนนพัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร คอนโดมิเนียมสูง 32 ชั้น ประกอบด้วย ห้องชุดพักอาศัยรวม 795 ยูนิตขนาดรูปแบบห้องชุดขนาด 26.50 – 36.50 ตร.ม.
โครงการมีผลการประเมินการใช้พลังงานต่อปี อยู่ที่ 2,925,289.18 กิโลวัตต์ – ชั่วโมง / ปี ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ 6,270,080.34 กิโลวัตต์ – ชั่วโมง / ปี คิดเป็นร้อยละ 53.34
โครงการซีเล็คเต็ดสุทธิสาร-สะพานควาย
ตั้งอยู่ที่ ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ระหว่างแยกสะพานควาย (มุ่งสู่ถนนวิภาวดี – รังสิต) และแยกสุทธิสาร คอนโดมิเนียมสูง 28 ชั้น ประกอบด้วย ห้องชุดพักอาศัยรวม 389 ยูนิต (ชั้น 7 – 21 และ ชั้น 23 – 28) รูปแบบห้องชุดขนาด 25.00 – 46.50 ตร.ม.
โครงการมีผลการประเมินการใช้พลังงานต่อปี อยู่ที่ 1,706,659.33 กิโลวัตต์ – ชั่วโมง / ปี ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ 3,542,368.89 กิโลวัตต์ – ชั่วโมง / ปี คิดเป็นร้อยละ 51.82
โครงการลุมพินี พาร์ค วิภาวดี-จตุจักร
ตั้งอยู่ที่ ถนนวิภาวดีรังสิต และซอยวิภาวดีรังสิต 3 แขวงจอมพล เขตจตุจักร คอนโดมิเนียมสูง 21 ชั้น ประกอบด้วย ห้องชุดพักอาศัยรวม 736 ยูนิต (ชั้น 1 – 21) รูปแบบห้องชุดขนาด 24.00 – 53.00 ตารางเมตร
โครงการมีผลการประเมินการใช้พลังงานต่อปี อยู่ที่ 3,732,061.80 กิโลวัตต์ – ชั่วโมง / ปี ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ 5,839,766.50 กิโลวัตต์ – ชั่วโมง / ปี คิดเป็นร้อยละ 36.09
ในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานนั้น หากมีผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานเข้าร่วมทีมด้วย จะสามารถทำให้การพัฒนาโครงการมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการดำเนินการตามกฎกระทรวงฯ การประหยัดพลังงาน และต้นทุนการก่อสร้าง
LPN และ LWS ได้ผลักดันในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถในการประเมินอาคารตามเกณฑ์มาตรฐาน BEC ให้กับวิศวกรและสถาปนิก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน และให้บริการตรวจประเมินแบบอาคารตามเกณฑ์ BEC ให้กับอาคารภาครัฐและเอกชน และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ในด้านการใช้พลังงานอีกด้วย