BIM-FM แนวคิดการบริหารทรัพยากรอาคารในอนาคต

BIM-FM คือ ความท้าทายใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานฝั่ง FM ด้วยการสนับสนุนจาก BIM เพื่อก้าวสู่ยุค Digital Transformation ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Date

ธันวาคม 13, 2021

Author

พงศ์ภารดี ศิริสหวัฒน์ (Building Technology & Innovation)

Contract: jg.supinyaluck@lpn.co.th, st.pongparadee@lpn.co.th

แม้ว่าเทคโนโลยี BIM จะถูกกล่าวถึงในแง่ของการช่วยยกระดับการทำงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ต้นจนจบ หรือที่เรียกกันว่า Building Life Cycle ของโครงการ แต่ในประเทศไทย BIM ยังไม่ถูกนำมาใช้งานในด้าน Facility Management (FM) สักเท่าไหร่ ทำให้สองสิ่งนี้ยังคงถูกพูดถึงว่าเป็นคนละโลกกันอย่างสิ้นเชิง แต่นับว่าแนวคิดของการนำ BIM เข้ามาประสานรวมกับกระบวนการทำงานทางด้าน Facility Management ก็เริ่มเห็นเด่นชัดขึ้นและถูกพัฒนาให้เข้าใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

การก้าวไปอีกขั้นของ BIM และ FM

BIM เป็นเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการทำงานภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างหรือภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในกระบวนการทำงาน แต่การนำเอา BIM มาใช้งานจริงในประเทศไทยนั้น ยังคงมีกรอบการทำงานที่จำกัดอยู่แค่ช่วงการออกแบบ (Design Phase) และช่วงการก่อสร้าง (Construction Phase) เท่านั้น นั่นหมายความว่าหลังจากนั้น BIM จะไม่ได้ถูกนำไปใช้งานอย่างต่อเนื่องตลอด Life Cycle ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ BIM อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดแนวคิด BIM-FM ขึ้น โดยเป็นการผลักดันให้นำเทคโนโลยี BIM เข้ามาสนับสนุนกระบวนการทำงานในช่วงการบริหารจัดการ (Operation Phase) เพื่อพัฒนาอนาคตของ BIM และ FM ให้ก้าวไปสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยสิ่งสำคัญที่เป็นตัวผลักดันและขับเคลื่อนแนวคิดนี้ให้ประสบผลสำเร็จนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ บุคลากร, กระบวนการทำงาน และเทคโนโลยี

การนำเทคโนโลยี BIM เข้ามาใช้ในช่วงของการออกแบบและก่อสร้างในประเทศไทย เริ่มมีให้เห็นอย่างแพร่หลายแล้ว โดยเริ่มจากเจ้าของธุรกิจ (Owner) เล็งเห็นศักยภาพของ BIM ที่ส่งผลกับธุรกิจของตนเอง ทำให้เกิดการปลูกฝังแนวคิดผ่านนโยบายภายในองค์กร ด้วยเหตุเช่นนี้ผู้ร่วมทำงาน ไม่ว่าจะเป็น สถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา รวมไปถึงฝั่ง Supplier ก็ล้วนแล้วแต่นำ BIM เข้ามาปรับใช้ภายในองค์กรของตน จนแทบจะต้องเป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องมีเพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพที่สามารถแข่งขันภายในตลาดได้

แต่จะเห็นได้ว่ามี Case Study ในประเทศไทยจำนวนน้อยมาก ที่นำ BIM ไปใช้หลังจากช่วงก่อสร้างแล้วเสร็จ หรือที่เรียกว่า ช่วงบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวก (Facility Management) เหตุผลหลักที่เป็นตัวฉุดรั้งศักยภาพของ BIM ไม่ให้ไปถึงฝั่ง FM ก็มีหลากหลายปัจจัย เช่น เจ้าของธุรกิจยังไม่เห็นความสำคัญและความคุ้มค่ากับการลงทุนกับ BIM ในช่วงบริหารจัดการมากพอ หรือ FM Manager ยังไม่เห็นประโยชน์จาก BIM กับงานฝั่งของตน เพราะเพียงแค่ระบบที่ใช้ทำงานในปัจจุบันก็เพียงพอต่อการทำงานแล้ว แต่นั่นทำให้รอยต่อของสองโลกนี้กลับยิ่งห่างจากกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นก้าวไปอีกขั้น ด้วยการประสานสองโลกระหว่าง BIM กับ FM เข้าด้วยกัน จึงต้องเริ่มจากการปลูกฝังความเชื่อมั่นว่า BIM สามารถเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้งานฝั่ง FM ก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงทุกฝ่ายต้องเห็นความสำคัญของ Digital Information เสียก่อน

การทำงานทางฝั่ง FM แบบเก่าหรืออาจเรียกว่าในแบบปัจจุบันนี้ แทบจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับ BIM หรือ 3D Model เลย เนื่องจาก FM ก็มี Software System ที่เป็นระบบการทำงานเฉพาะทาง และมีมาตรฐานการทำงาน เพียงแค่แบบ 2D และข้อมูลจากผู้รับเหมาหรือจากการเก็บสำรวจในสถานที่จริงก็อาจจะเพียงพอสำหรับการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นยังไม่รวมภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมจากการนำ BIM เข้ามาปรับใช้กับ FM ไม่ว่าจะเป็นค่าต้นทุนของการอบรมพนักงาน ค่าซอฟท์แวร์ ค่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นค่าต้นทุนและเวลาที่ต้องเสียไปจริง ๆ แต่หากมองว่าสิ่งนี้เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจใหม่ ๆ การเติบโตและความอยู่รอดของธุรกิจ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับโครงสร้างของกระบวนการทำงาน ปรับกลยุทธ์ให้ตอบรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่ทางฝั่ง FM จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการทำงานตั้งแต่ช่วงวางแผน ช่วงออกแบบ ช่วงพัฒนาแบบ และช่วงก่อสร้าง เนื่องจาก FM จะเข้าใจในข้อมูลที่จำเป็นต่อการบริหารโครงการนั้นเป็นอย่างดี เพราะ BIM ไม่เพียงแค่เป็น 3D Model แต่ BIM คือ โมเดลที่มีข้อมูลประกอบอยู่ในนั้น โดยข้อมูลที่ดีที่สุดไม่ใช่ข้อมูลที่มีมากมายมหาศาล แต่คือข้อมูลเท่าที่จำเป็น เหมาะสมกับโครงการนั้น ๆ และสามารถนำไปใช้งานในอนาคตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

จาก Conceptual Framework เกี่ยวกับกระบวนการทำงานตามแผนภาพด้านบน จะเห็นว่า FM ไม่จำเป็นที่จะมีบทบาทหลังส่งมอบอาคาร (Handover) แต่สามารถเข้ามามีบทบาทได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มวางแผนเลยก็ได้ เนื่องจากแต่ละโครงการมีข้อมูลที่จำเป็นแตกต่างกันออกไป การให้ FM เข้ามาร่วมวางแผนกลยุทธ์การเก็บข้อมูลตั้งแต่เริ่ม จะส่งผลดีต่อมาตรฐานการทำงานในช่วงออกแบบหรือก่อสร้าง เพราะผู้ออกแบบนั้นจะมีแนวทางของการเขียน Model และใส่ข้อมูลเท่าที่จำเป็น ซึ่งเป็นการลดเวลาและการทำงานที่ซ้ำซ้อนอีกด้วย

ทั้งทางฝั่งผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการอาคาร ต่างมีระบบหรือซอฟต์แวร์สำหรับทำงานเฉพาะทางของตน ส่งผลให้การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นไปได้ค่อนข้างยาก นอกจากจะต้องปรับแนวคิดการทำงานแล้ว ยังต้องปรับกลยุทธ์และเครื่องมือในการทำงานใหม่แทบทั้งหมด ซึ่งจากที่กล่าวมาผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องคงรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวอย่างมาก และอาจจะทำให้เสียเวลาในการเริ่มทำความเข้าใจกระบวนการใหม่ทั้งหมด แต่ด้วยการพัฒนา BIM ที่มองว่าสามารถใช้ประโยชน์ตลอด Life Cycle ทำให้มีมาตรฐานกลางต่าง ๆ ที่ไว้ใช้แลกเปลี่ยนการทำงานของแต่ละฝ่าย ทำให้ไม่ว่าจะใช้ Software หรือ Platform ใดก็สามารถใช้มาตรฐานกลางนี้เป็นเหมือนสะพานเชื่อมทั้ง 3D Model และ ข้อมูล อีกทั้งทางฝั่งผู้พัฒนา FM Software ก็ได้พัฒนาระบบให้รองรับมาตรฐานกลางที่ BIM ไว้ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ทำงานบนระบบ BIM นั้น FM Software ก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน โดยที่ฝั่ง FM ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน Interface การทำงานให้ยุ่งยากและอาจทำให้สับสนกับเครื่องมือที่ไม่คุ้นเคยได้ ด้วยการสร้าง API หรือช่องทางเพื่ออัพเดทข้อมูลทั้งทางฝั่ง BIM ไปยัง FM และฝั่ง FM กลับเข้าสู่ BIM หรือที่เรียกว่า Bi-Direction เพื่อให้ BIM สนับสนุนการทำงานทั้งการจัดการงานซ่อมบำรุง การบริหารสถานที่ การวางแผนกลยุทธ์ รวมถึงการ Visualization และ Simulation อื่น ๆ นอกจากนั้นข้อมูลจาก FM ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหรือการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเกี่ยวกับอุปกรณ์และสถานที่จะถูกอัพเดทกลับมาที่ BIM Model แบบ Real-time สำหรับนำไปใช้ต่อในอนาคต เช่น การปรับปรุงอาคาร (Renovation) หรือการรื้อถอน (Demolition)

Related Blogs

ที่อยู่อาศัยเปิดตัวโครงการใหม่สะสม ม.ค.-เม.ย. เพิ่มขึ้น 120%(YoY) มูลค่าเพิ่มขึ้น 30%(YoY)

ผลการวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ-ปริมณฑลสะสมเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 มีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ทั้งสิ้น 28,564 หน่วย เพิ่มขึ้น 120% เมื่อเทียบกับหน่วยสะสมของปี 2564

โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) พลังงานทางเลือกสำหรับอนาคต

โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) หรือ หลังคาโซล่าเซลล์ คือ การนำแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งไว้บนหลังคาอาคารที่อยู่อาศัย สำนักงาน หรือโรงงาน ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้งานในระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร

อสังหาฯปี’65 ปัจจัยเสี่ยงโอมิครอน ปรับกลยุทธ์เพิ่มกำลังซื้อระบายโครงการค้าง

“ลุมพินี วิสดอม” ชี้โควิดปี’64 กระทบโครงการใหม่ชะลอเปิดตัวเกาะติดปัจจัยโอมิครอน ผู้ประกอบเร่งปรับแผนการตลาด กระตุ้นกำลังซื้อ หวังปีนี้พลิกโต 5-20%

HomeAbout UsServicesBlog & NewsCareerContact Us