การพัฒนางานบริการที่คำนึงถึงสุขอนามัยที่ดี “Well-Being” เป็นโอกาสการสร้างธุรกิจที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคทั้ง 4 ด้าน ในปัจจุบันและอนาคต
ในสภาวะสังคมในปัจจุบันที่ Covid-19 ยังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาด เชื้อสายพันธุ์ใหม่มีการพัฒนาตัวเองอยู่เป็นตลอดเวลา ทำให้การระบาดยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะอยู่ในจุดสิ้นสุดในเร็ววัน เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจในการรักสุขภาพ และดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่อง หากแต่การดูแลเพียงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ความเครียดจากการทำงาน Work from home การเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อนสนิทมิตรสหายไม่ค่อยได้เจอหน้ากันเหมือนที่เคย หรือแม้แต่มลพิษทางสิ่งแวดล้อม ยังเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการขาดสุขภาวะที่ดีในปัจจุบันอีกด้วย Well-Being จึงถูกพูดถึงกันในวงกว้าง เพราะนอกจากร่างกายที่แข็งแรงแล้ว Well-Being ยังครอบคลุมถึง การมีสุขภาวะที่ดีในด้านอื่นๆ ทั้งในด้านสุขภาวะทางจิตใจ สุขภาวะทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างครบครันด้วย
อ้างอิงข้อมูลจากรายงานจาก Google ประจำปี 2021 พบว่าผู้บริโภคมีการใช้ระบบ Search engine ของ Google ค้นหาประโยคคำว่า “หาหมอออนไลน์” สูงขึ้นกว่ากว่าปี 2020 กว่า 122% เมื่อนำมาพิจารณาควบคู่กับข้อมูลยอดขายนาฬิกา Smart watch ทั่วโลก ซึ่งปกติแล้วนาฬิกากลุ่มนี้จะมีฟังค์ชั่นตรวจสอบสุขภาพขั้นพื้นฐาน เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ วัดอัตราการวิ่ง ซึ่งเป็นฟังค์ชั่นที่ตอบโจทย์การออกกำลังกาย มียอดขายทั่วโลกเติบโตในปี 2020 ที่ 14.93 พันล้านดอลลาร์ เพิ่ม 16% เป็น 17.35 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2021 ซึ่งเป็นยอดขายที่เติบโตสูงกว่านาฬิกาหรูหรา และมีการคาดการณ์ว่ายอดขายจะถึง 30.88 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025 เมื่อมองทั้ง 2 องค์ประกอบที่กล่าวมาแล้วนั้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่า แนวโน้มที่ผู้บริโภคมีความต้องการในด้านสุขภาพที่ดียังคงเติมโตได้อย่างต่อเนื่อง งานบริการต่างๆก็ถูกผู้ให้บริการในภาคธุรกิจต่างๆหยิบยกขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้บริการ และถูกนามาเชื่อมโยงกับ Well-Being มากขึ้นเช่นกัน
สอดคล้องกับผลสำรวจของ LWS ที่พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้พักอาศัยในคอนโดลุมพินีกว่า 84% ต้องการใช้ชีวิตประจำวันในพื้นที่ส่วนกลางในการผ่อนคลายกับธรรมชาติ 79% ต้องการพื้นที่ออกกำลังกาย และอีก 75% ต้องการพื้นที่นั่งทำงานหรือทำกิจกรรมงานอดิเรกแบบบุคคล/กลุ่ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการด้านสุขภาวะที่เกี่ยวข้องกับ Well-Being ครบถ้วนทั้ง 4 ด้าน
เมื่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น รูปแบบการใช้บริการของผู้บริโภคนั้นถูกปรับเปลี่ยนไปแทบสิ้นเชิง และคาดการณ์ได้ว่า หลังการระบาดของ Covid-19 สิ้นสุดลง พฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนไปก่อนหน้านั้นจะยังคงอยู่ต่อไป พฤติกรรมการออกไปทานอาหารนอกที่พักอาศัยมีจำนวนลดลง สวนทางกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า มูลค่าตลาดของการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก Food Delivery ในปี 2021 เติบโตกว่า 46.4% (YoY) (รวมสินค้าในหมวดเบเกอรี่ และเครื่องดื่ม) มีการสนับสนุนโครงการคนละครึ่งของภาครัฐให้สามารถใช้ร่วมกับ Application Food Delivery ได้ กลุ่มผู้ให้บริการเองก็ทำการปรับตัวรับนโยบายของภาครัฐ และเพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้าในการใช้บริการด้วยการให้ Partner มีเช็คลิสตรวจเช็คสุขภาพ Online ก่อนเริ่มทำงาน และต้องถ่ายเซลฟี่ขณะสวมหน้ากากอนามัยทำงาน ทุก 8 ชั่วโมง เป็นต้น รวมถึงธุรกิจอื่นๆต่างนำงานบริการที่ตอบโจทย์ Well-Being เข้ามาแข่งขันเพื่อรองรับกับความต้องการมีสุขภาพที่ดีด้วยเช่นกัน เราจะพบเห็นได้ว่าหากในองค์กรไม่มีหน่วยงานที่รองรับการให้บริการด้านสุขภาพ ธุรกิจนั้นๆจะใช้วิธีการนำ Partner ที่มีมาตรฐาน หรือได้การยอมรับในระดับสากลเข้ามาร่วมให้บริการกับลูกค้า เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร นำโรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์เข้ามาให้บริการ ส่วนธุรกิจเองจะสนับสนุนโดยการมอบส่วนลด / สิทธิพิเศษต่างๆเพื่อให้กับลูกค้าได้ใช้บริการ
ตัวอย่างงานบริการที่สนับสนุนเรื่อง Well-Being ในปัจจุบัน
1. ด้านสุขภาวะทางกาย
หากเราพูดถึงงานบริการที่เกี่ยวกับ Well-Being เรื่องสุขภาพจะถูกนึกถึงก่อนเป็นลำดับแรก บริการรูปแบบที่น่าสนใจ และเติบโตอยู่ในตลาดจะเห็นได้มากในเรื่องของการออกกำลังกาย และอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการเริ่มต้นมีสุขภาวะกายที่ดี
- Daily Harvest เติบโตจากความต้องการของผู้บริโภคที่สนใจในด้านอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ไม่มีเวลาจัดหาเอง เกิดความไม่มั่นใจว่าวัตถุดิบที่ได้มานั้นดีต่อสุขภาพหรือไม่ โดยให้บริการทั้งจำหน่ายวัตถุดิบอินทรีย์ อาหารออแกนิก หรืออาหารแช่แข็ง พร้อมจัดส่งถึงบ้าน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 100,000 ราย ในสหรัฐอเมริกา
- Ketanga กลุ่ม Startup ที่เกิดขึ้นจากความต้องการพักผ่อน และชื่นชอบการออกกำลังกาย ให้บริการจัดทริป และดูแลการพักร้อนแบบกลุ่มย่อยทั่วโลก โดยมีกิจกรรมตั้งแต่การชกมวย ขี่ม้า โยคะ ไปจนถึงการฟิตเนส อาหาร และกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับสุขภาพ ปัจจุบันมีผลงานการเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงกว่า 85 งาน และ 150 องค์กรทั่วโลก
2. ด้านสุขภาวะทางจิตใจ
การเกิดขึ้นของงานบริการที่เข้ามารองรับกับสุขภาวะด้านจิตใจในผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็พบว่ามีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน โดย รูปแบบการให้บริการ มักปรากฏในรูปแบบเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น
- Application ฝึกสมาธิของ Head Space ก่อตั้งโดย Andy Puddicombe ผู้เคยบวชที่ทิเบตมากว่า 10 ปี และ Richard Pierson อดีตมาร์เก็ตติ้งบริษัทที่ประสบกับสภาวะหมดไฟ ฝึกฝนสมาธิร่วมกันจนในที่สุดก็ได้มีการขยายแนวทางการนั่งสมาธิ นี้ออกไปให้คนอื่นมากขึ้น ความพิเศษของ Headspace คือการอธิบายวิธีจัดการปัญหาระหว่างที่เรานั่งสมาธิให้เข้าใจได้อย่างเห็นภาพ ด้วยการเล่าผ่านแอนิเมชั่น และเสียงของ Puddicombe ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดสูงถึง 54 ล้านครั้ง และสร้างรายได้ มากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google หรือ Linkedin เองก็เลือกสมัครแพ็กเกจเต็มรูปแบบ เพื่อให้พนักงานได้ใช้งานกันอีกด้วย
- Application ALLJIT เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้ระบายปัญหาบางอย่างที่เราไม่รู้จะไปปรึกษาใคร การจัดการกับความรู้สึก ความเครียด หรือปัญหาต่างๆ เป็นพื้นที่ที่ให้เราได้แลกเปลี่ยน รับฟัง ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา 24 ชั่วโมง การ Podcast เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต คอร์สเรียนจิตวิทยา Community ที่สามารถระบาย หรือรับฟัง และการประเมินความเครียด
- Application Sabaijai มีแบบประเมินสภาวะทางจิตใจ จำแนกตามความเหมาะสมของเพศ และอายุ มีบทความที่สามารถ เลือกได้ว่าจะอ่าน หรือฟังบรรยาย รวมถึงฟังเพลงเพื่อให้จิตใจสงบร่มรื่น
3. สุขภาวะทางสังคม
โรคระบาดในปัจจุบันทำให้มนุษย์เกิดช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น แต่ในขณะที่ความต้องการในด้านสังคม กิจกรรมต่างๆ และการสื่อสารพบปะสังสรรค์กับเพื่อนสนิท ญาติ หรือแม้แต่ผู้สูงอายุ ยังคงเป็นพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ ซึ่งนอกเหนือจากการมีสังคม และการปฏิสัมพันธ์แล้ว การมีสังคมที่ดี มีกิจกรรมสร้างสุขภาวะให้ทาร่วมกันจะเป็นการสร้างสุขภาวะที่ดีในด้านสังคมได้อีกด้วย
- Young Happy จุดเริ่มต้นของลูกที่อยากดูแลพ่อแม่วัยเกษียณ นำไปสู่การมองเห็นปัญหาร่วม ในสังคมผู้สูงอายุของคนเมือง เสริมพลังเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการมีส่วนร่วมทางสังคมให้กลุ่มผู้เกษียณอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีสภาวะร่างกายที่ ยังแข็งแรงดี ดูแลตัวเองได้ แต่สุขภาพใจอาจไม่ได้รับการดูแลจน ขาดกำลังใจและรู้สึกหมดคุณค่า ส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่รู้ว่ามีพื้นที่หรือกิจกรรมที่ใดให้เข้าร่วมได้บ้าง Young Happy เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างสังคมแห่งความสุขของคนวัย เกษียณ เน้นการเป็น Active Aging เพื่อให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สนุก รู้สึกมีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้ โดย ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมมากกว่า 100,000 คน
4. สุขภาวะทางสิ่งแวดล้อม
ปัญหาที่เกิดจากขยะล้นเมือง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อมเสียไป ซึ่งอาจทำให้กระทบการสุขภาวะด้านอื่นๆเป็น ลูกโซ่ การเริ่มต้นจัดการขยะที่เกิดจากพักอาศัยเป็นจุดเริ่มในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้สังคม หากไม่มั่นใจว่าการคัดแยกขยะที่บ้านแล้ว คน เก็บขยะก็จะนำไปรวมกัน ปัจจุบันก็มีมีแพลตฟอร์มการจัดการขยะรีไซเคิลเกิดขึ้นมากมาย สร้างความสะดวกสบาย ทั้งยังเป็นตัวช่วยใน การรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัวอีกด้วย เช่น
- GEPP เว้นระยะห่าง ไม่ต้องออกไปไหน สะดวกปลอดภัย รออยู่ที่บ้านแล้วเรียกรับบริการได้ผ่าน 3 ช่องทาง คือ โทรศัพท์ Line และ web Application โดยผู้ใช้บริการจะต้องกรอกสถานที่ วัน เวลาที่ต้องการให้เข้ารับขยะ รูปถ่ายแสดงปริมาณ และประเภทของขยะ จากนั้นระบบจะจัดคิวตามตาราง เพื่อวางแผนคน พื้นที่ เวลา และปริมาณในการเก็บขยะ ก่อนจะจัดเจ้าหน้าที่ไปรับขยะ ชั่งน้ำหนัก ทำบิล และจ่ายเงินต่อไป
- ส่งพลาสติกกลับบ้าน เป็นโครงการที่ช่วยรับขยะพลาสติกไปจัดการอย่างถูกวิธี โดยเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย และพันธมิตร มีการบริหารจัดการในรูปแบบ “แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา” โดยมีจุดเช็คอิน รอบเขตสุขุมวิทและอื่นๆ กว่า 25 จุด นำไปรีไซเคิลแล้วส่งกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคอีกครั้ง
การเริ่มต้นส่งเสริม Well-Being จะช่วยทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีการใช้ชีวิตประจำวัน และส่งผลถึงการเกิดสุขภาวะที่ดีในอนาคตได้โดยตรง เมื่อไม่เจ็บป่วย มีสุขภาพแข็งแรง อยู่ในสังคมที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี ก็ช่วยให้สุขภาพจิตดี มีอายุที่ยืนยาวอย่างมีความสุขครบทุกด้าน กลายเป็นห่วงโซ่สุขภาวะ ซึ่งรูปแบบงานบริการในอนาคตที่เข้ามารองรับกับความต้องการของผู้บริโภค อาจเกิดจากการต่อยอดงานบริการที่มีในปัจจุบัน เทคโนโลยีต่างๆในภาพยนต์ Sci-fi ในอดีตก็จะถูกนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนางานบริการได้ด้วย เช่น Video conference ถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบ Hologram ที่สามารถโต้ตอบกับผู้ร่วมประชุมแบบสามมิติ เห็นผู้สนทนาทั้งตัวได้ หรือแม้กระทั่งบริการคัดแยกขยะ นำไปรีไซเคิล และส่งกลับคืนเป็นผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภคโดยตรง ไม่ผ่านการแปรรูปจากภาคธุรกิจอีกต่อไป ผู้บริโภคส่งขยะไปรีไซเคิล และเลือกแบบตามความต้องการได้ว่าจะให้ขยะที่ถูกคัดแยกไปรีไซเคิลแล้ว กลับมาเป็นเฟอร์นิเจอร์แบบไหนภายในที่พักอาศัยของตนเอง เป็นต้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ Universal design ให้คนทุกวัยสามารถใช้งานร่วมกันได้จะกลายเป็นเรื่องพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ในอนาคต เราจะเห็นการเกิดขึ้น และเติบโตของงานบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่พักอาศัยให้เหมาะกับผู้สูงวัยจะถูกพบเห็นมากขึ้น และมีราคาที่ถูกลง เนื่องจากประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบในปี 2565 เป็นหนึ่งใน Mega trend ที่เกิดขึ้นแล้ว เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับงานบริการที่จะถูกพัฒนาในอนาคต มีความจำเป็นต้องเป็นรูปแบบเทคโนโลยีที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ ใช้งานง่าย ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน มีสุขภาพดี สามารถใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างมีความสุข